อย่างที่รู้กันว่าการเผาพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเตรียมดินในการเพาะปลูกครั้งถัดไปเป็นวิธีการที่รวดเร็วและใช้กันมาอย่างยาวนาน สามารถพบเห็นได้ทั่วไปจนแทบเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมทั้งดิน อากาศ และสุขภาพ แล้วมีวิธีการอะไรบ้างในการเตรียมดินโดยไม่ต้องเผาเศษวัสดุให้เกิดมลพิษ แถมไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพด้วย
1. นำเศษวัสดุเศษพืชมาใช้ในการเตรียมดินแทนการเผา
ไถกลบ เกษตรกรสามารถไถกลบเศษวัสดุเศษพืชลงไปในดิน ช่วยให้ดินร่วนซุย มีความชุ่มชื้นเป็นแหล่งอาหารสำหรับจุลินทรีย์ในดิน
ทำปุ๋ยหมัก ใช้เศษพืชมาหมักร่วมกับมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอก จะได้ปุ๋ยหมักที่มีมีความหลากหลายของธาตุอาหารเพิ่มขึ้นอีก
ปลูกพืชคลุมดิน ปลูกพืชตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง หมุนเวียนกับพืชหลัก นอกจากเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินแล้ว พืชจำพวกถั่วยังช่วยเรื่องการพังทลายของดินได้ดี
2. ปลูกพืชหมุนเวียน ไร้โรค ไร้แมลง
ปลูกพืชตระกูลถั่ว การปลูกพืชจำพวกถั่วที่ได้แนะนำไปแล้วข้างต้น คือการใช้ประโยชน์จากต้นถั่วให้เป็นปุ๋ยสดหลังไถกลบ จะได้แบคทีเรียชนิดหนึ่งมาช่วยเพิ่มไนโตรเจนและแร่ธาตุอื่นๆ ในดิน
ปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชหลากหลายชนิดหมุนเวียนในแปลงเพราะปลูกสลับกันในแต่ละช่วง ช่วยตัดวงจรของโรคและแมลงศัตรูพืชได้
3. ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เตรียมดิน คุณภาพดินดีขึ้น ปลูกอะไรก็ดี
ปุ๋ยหมัก นำเศษพืชหรือเศษวัสดุการเกษตรอื่นๆ หมักรวมกับมูลสัตว์ จะได้ปุ๋ยคุณภาพดีสำหรับบำรุงพืช บำรุงดินแบบไร้สารเคมี
ปุ๋ยคอก ใช้มูลสัตว์ที่ย่อยสลายแล้วมาเป็นปุ๋ยเพื่อให้ดินมีอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น
ปุ๋ยชีวภาพ เป็นปุ๋ยที่ผลิตจากจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นตัวช่วยในการย่อยสลายอินทรียวัตถุและผลิตธาตุอาหารให้พืชและดิน
การไม่เตรียมดินด้วยการเผาเศษวัสดุเศษพืช ก็มีข้อดีมีประโยชน์หลายๆ ด้าน
ประหยัดต้นทุน วิธีข้างต้นที่ได้แนะนำไปก่อนหน้านี้ล้วนเป็นวิธีแบบธรรมชาติ ไม่มีสารเคมี เมื่อเกษตรกรไม่ใช้หรือลดการใช้สารเคมี ก็ประยัดต้นทุนการผลิต และได้สุขภาพดี
ลดมลภาวะทางอากาศ แน่นอนว่าหากไม่เผาก็ไม่เกิดควัน เพราะการเผาจากกิจกรรมทางการเกษตรเป็นสาเหตุหลักของ ฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นภัยเงียบ ในบ้านเรา และยังเป็นสาเหตุของควันพิษก๊าซเรือนกระจก และฝุ่นละอองขนาดใหญ่
รักษาสภาพดิน ความร้อนจากการเผาทำลายทั้งจุลินทรีย์ แร่ธาตุในดิน และสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่มีประโยชน์ดินและพืช การปลูกพืชหมุนเวียนทำให้มีพืชหลายชนิดหยั่งรากลงดินในระดับต่างๆ ทำให้ดินไม่พังทลาย และช่วยรักษาแร่ธาตุในดินทางอ้อมจากการดูดซึมแร่ธาตุในดินชั้นลึกลงไปขึ้นมาบนดินด้านบนด้วย
ช่วยเพิ่มผลผลิต ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ หมายถึงแหล่งอาหารชั้นเยี่ยมของพืช ผลผลิตจะมีคุณภาพและปริมาณเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้หลายหัวข้อที่เป็นคำแนะนำสำหรับเกษตรกร ก็ยังสามารถนำมาปรับใช้กับการจัดการเศษพืชภายในที่พักอาศัยได้ด้วย นอกจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ยังช่วยให้ชุมชนมีอากาศสะอาดและมีคุณภาพชีวิตที่ดี